หลักการมิกซ์งานเบื้องต้น สำหรับคนทำเพลงด้วยตัวเอง


การมิกซ์เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะอย่างที่แตกต่างจากการทำเพลงและเล่นดนตรี ต้องใช้ประสบการณ์ในการฟังรวมทั้งใช้เวลาเรียนรู้อย่างมาก โพสต์นี้ เราจะมาดูกันว่า ถ้าชาวโฮมสตูดิโออยากเริ่มเรียนรู้งานมิกซ์ จะต้องเริ่มต้นอย่างไร
===================

มิกซ์คืออะไร

การมิกซ์เพลง คือการจัดการเสียงต่างๆ ในเพลง ให้ออกมาดี ในอารมณ์และโทนที่เหมาะสม ผมไม่ใช้คำว่าการมิกซ์คือการทำเพลงให้ออกมาฟังดีที่สุด เพราะงานมิกซ์ไม่มีสิ่งที่ดีที่สุด แต่เรามิกซ์เพื่อให้เพลงฟังได้อารมณ์และเหมาะสม สำหรับแนวเพลงนั้นหรือเพลงนั้นๆ
ดังนั้นหลักการแรกเลยคือ งานมิกซ์ไม่มีภาพหรือกรอบว่า เพลงใดเพลงหนึ่งในโลกคือเพลงที่มิกซ์ดีที่สุด แล้วจะใช้เป็นมาตรฐานหรือกรอบได้ว่า มิกซ์แบบนี้คือมาตรฐาน
เพลงแนวคนละแนวกันอย่างเพลงลูกทุ่ง เพลงคลาสสิค เพลงฮิปฮอป แม้จะใช้โปรแกรมในการมิกซ์และปลั๊กอินเหมือนกัน แต่ก็ต้องการลักษณะของโทนเสียงและอารมณ์ในการฟังต่างกัน ลองเปิดเพลง The Eagles เทียบกับ Nirvana หรือเปิดเพลงไทยอย่างหญิงลี เทียบกับ Groove Rider เราจะพบว่าโทนของเพลง ความแหลมความใส ความทุ้มในเพลง ต่างกันสิ้นเชิง แต่เพลงของศิลปินที่ยกมา ต่างก็เป็นงานที่มิกซ์ดีในแบบตัวเอง นี่คือหลักการแรกคือ ในโลกนี้ไม่มีเพลงที่มิกซ์ดีที่สุด
แม้ไม่มีเพลงที่มิกซ์ดีที่สุดเอาไว้เป็นบรรทัดฐาน แต่ในการที่เราจะมิกซ์งานเอง เราก็ต้องมีสิ่งที่เราใช้วัดในการทำงานเพื่อให้เรารู้ว่าเรากำลังมิกซ์งานได้ตามที่ต้องการหรือไม่ โดยการใช้เพลงตัวอย่างที่เป็นแนวใกล้เคียงกับเพลงที่เราทำ มีเสียงและการมิกซ์ในแบบที่เราอยากได้ยินจากเพลงของเราเอง
การใช้เพลงตัวอย่างหรือ Reference ในงานอื่นๆ อาชีพอื่นๆ อาจต้องระวังว่าการใช้งานคนอื่นมาเป็นตัวอย่างในการทำงาน จะเข้าข่ายการลอกหรือไม่
แต่สำหรับการมิกซ์ คุณลืมเรื่องนี้ไปได้เลย เพราะคุณใช้เพลงคนอื่นมาเป็นตัวอย่างในการฟังได้ แต่การที่คุณจะมิกซ์ให้เหมือนเพลงตัวอย่าง เป็นเรื่องที่ไม่ใช่การลอก แต่ต้องอาศัยความสามารถของตัวคุณเองล้วนๆ เพราะถ้าคุณสามารถฟังเพลงตัวอย่างแล้วคุณมิกซ์เพลงของคุณให้ใกล้เคียงกับเพลงที่คุณได้ยินได้ นั่นคือคุณเป็นคนที่เทพมากในงานด้านนี้แล้ว และการใช้เพลง Reference ไม่ใช่การลอกลายหรือทำสำเนา แต่เราใช้การฟังเพลง Reference เพื่อจับ Mood&Tone หรือลักษณะเสียงของเพลงว่า ใสไป ทุ้มไป แน่นไป บางไปหรือเปล่า ถ้าเราทำงานโดยไม่มี Reference เสียงที่เรารู้สึกว่าแหลมใสแล้ว พอไปเปิดเทียบกับเพลงอื่น อาจอุดอู้มากๆ ก็ได้

===================

หลักการที่สองคือ ไม่มีปลั๊กอินและวิธีปรับแบบที่ดีที่สุด การใช้งานปลั๊กอินในการมิกซ์ ต้องใช้ควบคู่กับการฟัง ปลั๊กอินชนิดเดียวกันอย่าง EQ ของแต่ละแบรนด์ก็ยังให้เสียงต่างกัน เพื่อให้ได้ผลแบบต่างๆ
ตลอดการทำงาน คำถามที่ผมมักจะเจอน้องๆ ถามเสมอคือ พี่ใช้ปลั๊กอินตัวไหนดีที่สุด จะปรับ คอมเพรสเซอร์ยังไงให้กีตาร์เสียงดี คำถามประมาณนี้ ตอบได้ว่าไม่มีคำตอบ เพราะเสียงแต่ละเสียง แม้เป็นคนร้องคนเดิม แต่อัดมาต่างสถานที่ ต่างเวลากัน เมื่อใช้ปลั๊กอินเดียวกัน ปรับเหมือนเดิม เสียงยังต่างกัน ดังนั้นจึงไม่มีคำตอบที่ดีที่สุด สำหรับการปรับค่าในการใช้งานปลั๊กอินต่างๆ
การปรับค่า การเลือกใช้งานปลั๊กอินต่างๆ ต้องใช้ควบคู่กับการฟังเสมอ

===================

อยากหัดมิกซ์เพลง ต้องเริ่มจากตรงไหน

1. ลำโพงต้องได้มาตรฐาน - การมิกซ์งานเป็นการทำงานกับการฟังโดยตรง ดังนั้นจะมิกซ์งานได้ ต้องใช้ลำโพงที่เหมาะสำหรับการมิกซ์ ซึ่งลำโพงที่เหมาะกับการมิกซ์ในปัจจุบัน มีให้เลือกอย่างมากมาย ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณหนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป
สิ่งที่เน้นเสมอในเพจนี้คือ ถ้าคุณจริงจังกับงานทำเพลง จริงจังอาชีพด้านดนตรี จงให้ความสำคัญกับการมีลำโพงที่ได้มาตรฐานระดับทำงานอาชีพโดยเร็วที่สุด เพราะการมีลำโพงที่ดี ทำให้เราได้ฝึกทักษะในการฟัง ซึ่งทักษะการฟังสร้างไม่ได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นการมีลำโพงที่ได้มาตรฐาน ถือเป็นเรื่องสำคัญในการหัดมิกซ์ ถ้าได้ยินเสียงจากลำโพงที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็จัดการสิ่งที่ได้ยินไม่ได้

===================

2. เรียนรู้เรื่องการจัดความดังเบาของเสียง - ในเพลงหนึ่งเพลง ประกอบไปด้วยเสียงต่างๆ หลายเสียง เมื่อเรานำเสียงเหล่านั้นมาผสมกันในเพลง ในเพลงหนึ่งเพลงต้องมีเสียงของสิ่งที่ดังและเบาอยู่ในเพลงนั้นเช่น เสียงร้อง ดังกว่าเสียงไฮแฮท การจัดความดังเบาของเสียงต่างๆ ในเพลง เป็นอย่าแรกที่คนมิกซ์ต้องทำ
ขอยกตัวอย่างเสียงกลอง เวลาเราฟังการตีกลองสด เราจะได้ยินเสียงกลองทุกชิ้น ดังเท่าๆ กัน แต่พอกลองมาอยู่ในรูปแบบการมิกซ์ เสียงกลองแต่ละชิ้น อาจต้องการการมิกซ์ดังเบาแตกต่างกันมากๆ นี่คือโลกของการมิกซ์กับการได้ยินในสถานที่จริงแตกต่างกัน ดังนั้นในการมิกซ์ มีสิ่งเสียงที่ดังและเบาเสมอ

===================

3. การมิกซ์คือการจัดการเพลงทั้งเพลงให้ฟังดี ไม่ใช่การจัดการเครื่องดนตรีหรือเสียงแต่ละเสียงให้ฟังดี - เวลาคุณเลือกซื้อเครื่องดนตรีอย่างเบส กีต้าร์หรือแอมป์ต่างๆ อาจได้ยินการรีวิวว่าเสียงมาเต็ม ครบทุกย่าน เสียงแน่น แต่ในโลกของการมิกซ์ เราไม่ได้ต้องการให้เสียงที่มาอยู่รวมกันแล้วเกิดการอัดแน่นปนกันของความถี่ต่างๆ แต่เราต้องการให้เสียงแต่ละเสียงมีที่ทางของตัวเอง ชัดเจนในย่านความถี่หรือจุดที่เราต้องการ ดังนั้นเสียงที่มารวมกันจนเป็นเพลงที่ฟังดี พอ Solo ฟังเสียงแต่ละเสียง อาจไม่จำเป็นต้องฟังดี กีต้าร์เสียงเดียวอาจแหลมๆ บางๆ แต่รวมอยู่ในเพลงแล้วดี เบสเสียงเดียวอาจไม่ใหญ่ไม่หนา แต่พออยู่ในเพลง รวมกับกระเดื่องแล้วตึ๊บ
ในการมิกซ์เราฟังที่ภาพรวมทั้งเพลง ไม่ใช่แค่เสียงใดเสียงหนึ่งฟังดูดี ดังนั้นเวลาหัดมิกซ์ ก็ต้องฟังที่ภาพรวมของเพลงว่าเสียงทั้งหมดอยู่ด้วยกันแล้วดี

===================

4. ตัดสิ่งที่ไม่ใช้ออกไป - จากข้อที่แล้วที่บอกว่าการมิกซ์คือ การทำให้เสียงแต่ละเสียงมีที่ทางของตัวเอง จึงนำมาสู่ข้อนี้คือ การตัดสิ่งที่ไม่ใช้ออกไป
การตัดสิ่งที่ไม่ใช้ออกไปของการมิกซ์ ก็คือการตัดความถี่ที่ "ไม่จำเป็น" ต้องมีก็ได้ออกไป หรือการใช้ Filter ในการมิกซ์ ถือเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดในการมิกซ์
Filter คืออะไร - Filter ก็คือการคัดกรองความถี่ ให้ความถี่ที่ต้องการผ่านมาได้ แล้วตัดความถี่ที่ไม่ต้องการออกไป ในการมิกซ์ เราจะเจอ Filter ที่ได้ยินบ่อยๆ สองแบบคือ Low-Cut และ Hi-cut ซึ่งก็คือการตัดความถี่ย่านต่ำและย่านแหลมออกไป
ตัวอย่างการใช้ Filter ในการมิกซ์เช่น เพลงหนึ่งเพลงเสียงสามเสียงคือ เสียงเบส เสียงร้อง และเสียงไฮแฮท (นี่มันเพลงแบบไหนกัน?) ในการมิกซ์ เราเริ่มจากเสียงร้องของมนุษย์ พวกเสียงย่านต่ำตั้งแต่ 80 Hz จะไม่ค่อยจำเป็นในเพลง เราสามารถตัดเสียงตั้งแต่ย่านนี้ลงไปได้ ซึ่งจะทำให้เสียงร้องย่านต่ำนี้ ไม่ไปตีกับเสียงเบส ทำให้เบสมีที่ทางในย่านต่ำ ชัดเจนขึ้น ส่วนเสียงเบส เราไม่ต้องการเสียงในย่านที่สูงมากๆ เราก็ตัดย่านสูงๆ ออกไปได้ ทำให้ ไฮแฮทและเบสไม่ตีกันและต่างมีที่ทางของตัวเอง นี่คือหลักการของการใช้ Filter
หลักการของ Filter นี้ ถือเป็นกฎทองของการมิกซ์ ซึ่งเราได้ยินกันมานานว่า ในการมิกซ์ให้ "ลดก่อนเพิ่ม"

===================

5. ต้องรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร - การมิกซ์ในปัจจุบัน มีปลั๊กอินให้เลือกทำงานอย่างมหาศาล แต่ในการทำงานจริง ทุกครั้งที่ใช้งานปลั๊กอินตัวใด ขอให้รู้และเข้าใจว่าการปรับ การใช้งานที่เรากำลังทำอยู่ มีผลต่อเสียงอย่างไร อย่าแค่ใส่ปลั๊กอินตามคนอื่นแล้วไม่รู้ว่าใส่เพื่ออะไร
อีกเรื่องคือ แม้ในคอมของเราจะมีปลั๊กอินจำนวนมาก แต่เราไม่จำเป็นต้องใช้ปลั๊กอินทุกตัว การเลือกใช้ปลั๊กอิน ให้ใช้ตัวที่ตัวเองถนัดและเข้าใจว่าใส่แล้วเสียงจะเป็นอย่างไร การทำงานทั้งเพลงโดยใช้ปลั๊กอินในการมิกซ์แค่สองสามแบบซ้ำๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่เก่ง ถ้ามีปลั๊กอินในเครื่องสองร้อยกว่าตัว แต่ถนัดใช้แค่สามตัวแล้วได้ผลงานยอดเยี่ยมตรงตามใจ นั่นคือคุณทำงานดีแล้ว ซึ่งเป้าหมายในการมิกซ์ก็คือ การทำให้เพลงฟังดูดี จะใช้เครื่องมือมากน้อย ถ้าได้ผลตามที่ต้องการแปลว่างานดี

===================

อยากก้าวเข้าสู่โลกแห่งการมิกซ์ต้องตัดความเชื่อเหล่านี้ทิ้งไป

1. ต้องเลิกเชื่อว่าเพลง Hotel California จากคอนเสิร์ต Hell Freezes Over ของวง The Eagles เป็นเพลงที่มิกซ์ดีที่สุดในโลก - นี่คือเพลงที่เปิดในแผนกเครื่องเสียงทุกห้างในประเทศเรามากว่า 20 ปี เป็นเพลงแรกที่พนักงานขายจะเปิดให้เราทดสอบในร้านเครื่องเสียง ถามว่าเพลงนี้มิกซ์ดีมั้ย ตอบว่ามิกซ์ดีมาก แต่เหตุผลที่ให้ลบความเชื่อนี้ออกไป เป็นไปตามหลักการข้อแรกคือ ไม่มีเพลงที่มิกซ์ดีที่สุด มีแต่เพลงที่มิกซ์มาแล้วเหมาะกับแนวเพลงหรือเพลงนั้นๆ ดังนั้นตัดความเชื่อเรื่องนี้ออกก่อน จะได้หาเพลงตัวอย่างในการมิกซ์ที่เหมาะกับตัวเองเจอ

2. ต้องเลิกเชื่อว่า การปรับ EQ เป็นรูปตัว V ทำให้เสียงดี - เหมือนข้อแรกคือถ้าคุณไปเดินในแผนกเครื่องเสียงห้าง อีคิวทุกตัว จะถูกปรับไว้เป็นรูปตัว V ซึ่งก็คือการบูสย่าน Low และ Hi แล้วตัดย่าน Mid ทิ้ง ซึ่งแค่คิดง่ายๆ ว่าเพลงถูกทำให้บวมและแหลม แล้วลดเนื้อเสียงตรงกลางลง มันจะฟังดีได้ยังไง
การปรับอีคิวเป็นรูปตัว V นี้ ยิ่งค้านกับหลักการเรื่องการใช้ Filter ไปใหญ่ ในอีคิวที่เป็นปลั๊กอินสำหรับทำงานมิกซ์แทบทุกตัว มี Filter ไว้ให้ตัดย่าน Hi และ Low ที่ไม่จำเป็นต่อเสียงทิ้ง แต่การปรับอีคิวเป็นรูปตัว V คือการเพิ่มสิ่งที่เราไม่ต้องการขึ้นมา ดังนั้น จงมาร่วมสู้รบกับความเชื่อที่ว่า ปรับอีคิวเป็นรูปตัว V แล้วทำให้เสียงดีนี้ ให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินแผนกเครื่องเสียงในห้างกันเถิด
การใช้อีคิว เราใช้เพื่อลดหรือเพิ่มย่านเสียงที่เราต้องการจัดการ ดังนั้นการใช้อีคิว ใช้คู่กับการฟังเสมอ

===================

ในทุกๆ โอกาสที่ผมพูดถึงเรื่องการมิกซ์ ผมแนะนำเสมอว่างานมิกซ์เป็นงานที่เรียนรู้ไม่ได้ในเวลาอันสั้น ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ในการฟัง อาศัยความเข้าใจในการใช้เครื่องมือต่างๆ การได้หัดเรียนรู้การมิกซ์ตั้งแต่อายุน้อย จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
แต่สำหรับชาว Home Studio ที่ปลุกปั้นงานทั้งแต่งเพลง ทำเพลง จนมาถึงขั้นสุดท้ายคือมิกซ์งาน ถ้าคุณไม่เคยทำงานมิกซ์เพลงมาก่อน ผมแนะนำว่า การจ้างมืออาชีพมิกซ์ เป็นสิ่งที่คุณควรลงทุน เพราะการเรียนรู้การมิกซ์ต้องใช้เวลาและประสบการณ์ และงานมิกซ์ชิ้นแรก ยากมากๆ ที่จะออกมาดี ยิ่งถ้าคุณเป็นศิลปินใหม่ การจ้างมืออาชีพ จะทำให้คุณได้ทิศทาง ตัวอย่าง เอาไว้เป็นแนวทางให้คุณใช้ ในการทำงานต่อๆ ไป

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม