แนวทางการมิกซ์เพลง และวิธีตรวจสอบว่าเพลงที่เรามิกซ์ ใช้ได้ไหม?

.
ในการมิกซ์เพลงและทำมาสเตอริงนั้น ต้องใช้ทั้งความรู้ความเข้าใจในเรื่องอุปกรณ์ ปลั๊กอิน และต้องอาศัยประสบการณ์ในการฟัง เพื่อแยกแยะความแตกต่างของเสียง เพื่อทำให้เสียงในเพลงเป็นไปตามที่คนมิกซ์ต้องการ การเรียนรู้การมิกซ์ให้ทำได้จนดีนั้น จึงต้องใช้ทั้งเวลาสำหรับการฝึกฝน และมีความเข้าใจในอุปกรณ์ปลั๊กอินต่างๆ
.
แต่มือใหม่อยากฝึกมิกซ์ หรือแม้แต่คนที่เข้าใจเรื่องการมิกซ์แล้ว และกำลังมิกซ์ผลงานของตัวเอง จะรู้ได้ยังไงว่างานที่กำลังทำนั้น ไปถูกทาง และพอจะใช้ได้
.
หนึ่งในตัวช่วยสำคัญในการมิกซ์ก็คือการมีเพลง "ต้นแบบ" ที่เราจะใช้เป็นแนวทางในการมิกซ์
.
เพลงต้นแบบนั้นไม่ได้กำหนดว่าเป็นเพลงใดเพลงหนึ่งในโลกนี้ แต่เพลงที่เราจะเอามาใช้เป็นต้นแบบในการมิกซ์เพลงของเรา ก็คือเพลงที่เรารู้สึกว่ามีแนวเพลง รูปแบบเสียง โทนของเพลง ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราต้องการในเพลงของเรา เช่น กลองเสียงคล้ายๆ กัน กีตาร์โทนประมาณเดียวกัน องค์ประกอบเสียงในเพลงต้นแบบคือสิ่งที่เราชอบและมีในงานของเรา แล้วพองานที่เราทำเสร็จออกมา เราอยากให้ฟังได้ดีแบบเพลงที่เราใช้เป็นต้นแบบ
.
ในการมิกซ์เพลง ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่หรือนักมิกซ์ระดับจริงจัง คุณควรต้องมีเพลงต้นแบบสำหรับการมิกซ์งานแต่ละงานไว้เสมอ โดยคุณใช้เพลงต้นแบบเพื่อ
.
ให้คุณเห็นภาพรวมของเสียงต่างๆ ในเพลง ว่าเสียงเครื่องดนตรี เสียงร้อง ควรต้องอยู่ตำแหน่งไหน(การปรับ Pan) ความดังเบาของเสียงแต่ละเสียง(การปรับ Fader) ควรอยู่ประมาณไหน คุณสามารถใช้เพลงต้นแบบ เป็นแบบให้คุณร่างภาพงานของคุณให้ชัดเจนขึ้น
.
การใช้เพลงต้นแบบยังสำคัญในเรื่องการจัดโทนของความถี่ในเพลง เพราะถึงแม้ว่าคุณจะใช้ลำโพงที่ดีและคุณคุ้นเคยในการมิกซ์ แต่การจัดโทนความทุ้มแหลมของเสียงต่างๆ โดยที่คุณจัดเองแบบไม่มีตัวช่วย อาศัยแค่ความคุ้นเคยในการฟัง ก็มีโอกาสที่พอคุณมิกซ์งานเสร็จแล้ว งานของคุณอาจทุ้มไปหรือใสไป เมื่อนำไปเปิดร่วมกับเพลงที่ทำขายเพลงอื่นๆ แล้วก็กลายเป็นงานของคุณตกขบวน เพราะเป็นงานมิกซ์ไม่ได้คุณภาพ ทั้งๆ ที่คุณฟังจากลำโพงของคุณแล้ว คุณมั่นใจว่าดี
.
การมีเพลงต้นแบบเพื่อใช้เป็นตัวช่วยเปรียบเทียบเรื่องโทน ทำให้คุณเทียบได้ว่าเพลงที่คุณมิกซ์นั้น ทุ้มกว่าหรือใสกว่าเพลงต้นแบบ ช่วยป้องกันว่าคุณไม่ได้กำลังหลอกหูตัวเองตามความรู้สึกเรื่องความถี่ทุ้มแหลมจากการทำงานในแต่ละครั้ง การมีเพลงต้นแบบช่วยตรงนี้ ในเรื่องเป็นชิ้นงานสำหรับการเปรียบเทียบเสียง
.
ทีนี้อาจมีคำถามว่า ในการมิกซ์ เราดูความถี่จาก Analyzer จะไม่แน่นอนกว่าการฟังความถี่เปรียบเทียบจากเพลงต้นแบบหรือ?
.
เราควรใช้ทั้งการเปรียบเทียบและการใช้ Analyzer ควบคู่กัน เพราะการมิกซ์เพลงนั้นไม่ใช่เรื่องของตัวเลขหรือเทคนิคเท่านั้น แต่การมิกซ์คืองานการประกอบอารมณ์ของเสียงด้วย ดังนั้นการบอกตัวเลขว่าความถี่ที่ดีในเพลงหนึ่งนั้น พอเอามาปรับค่าตามในเพลงของเรา เมื่อรวมกับการเรียบเรียงและเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ในเพลงของเรา อาจได้ผลที่ไม่ดีก็ได้ การมิกซ์จึงมีเรื่องของอารมณ์ในการฟังเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นการใช้ทั้งเครื่องมือวัดความถี่อย่าง Analyzer และการใช้การเปรียบเทียบจากเพลงต้นแบบ ก็จะทำให้เรามี "เครื่องมือ" ช่วยในการมิกซ์มากขึ้น ทำให้เพลงที่เรามิกซ์มีโอกาสได้ชิ้นงานตามที่เราต้องการมากขึ้น
.
การมีเพลงต้นแบบที่เหมาะกับงานมิกซ์ในแต่ละเพลงของคุณ จะทำให้เหมือนมีไกด์นำทางการทำงาน และคุณสามารถเปิดงานของคุณกับต้นแบบเปรียบเทียบกันได้ตลอด เพื่อหาว่าคุณกำลังไปตามทางที่ตั้งใจ หรืองานคุณกำลังผิดรูปผิดร่าง การมีเพลงต้นแบบในการมิกซ์นั้น ช่วยในเรื่องนี้อย่างมาก
.
และเมื่อคุณมิกซ์งานเสร็จแล้ว เพลงต้นแบบยังเป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบคุณภาพงานได้อีกด้วย โดยให้คุณเปิดเพลงของคุณต่อจากเพลงต้นแบบ ให้ฟังต่อเนื่องกัน เหมือนคุณฟังเพลงตามปกติจากวิทยุ สิ่งที่ควรจะเป็นคือ การฟังเพลงทั้งสอง ควรจะต่อเนื่องกันได้แบบที่คุณรู้สึกว่างานเพลงทั้งสองนั้น มาจากอัลบั้มเดียวกัน หรือมีความต่อเนื่องแบบที่คุณไม่รู้สึกว่าความถี่ของเพลงนั้นใสหรือทุ้มกว่ากัน และความดังของเพลงนั้นควรพอดีแบบที่คุณไม่ต้องมาเร่งเสียงวอลลุ่มเพลงของคุณเพิ่มหรือลด เพื่อให้ดังเท่ากับเพลงต้นแบบ สรุปคืองานของคุณควรฟังต่อได้กับเพลงต้นแบบ ให้เนียนเหมือนเป็นงานที่ถูกทำมาจากอัลบั้มเดียวกัน
.
ผมย้ำอีกทีว่า "เพลงต้นแบบ" ที่คุณเลือกใช้นั้น ไม่ใช่เพลงใดเพลงเดียวในโลก ไม่ใช่การนำเพลงที่เค้าบอกกันว่ามิกซ์ดีที่สุดในโลกมาเป็นต้นแบบ แต่ขอให้เป็นเพลงที่คุณรู้สึกว่า ถ้างานเพลงที่คุณกำลังมิกซ์ ทำเสร็จออกมา คุณอยากให้มีเสียงจากการมิกซ์เหมือนเพลงที่คุณนึกถึง เพลงนั้นก็จะเหมาะเป็นเพลงต้นแบบสำหรับแต่ละชิ้นงานของคุณ

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม