วิธีทำเพลงให้อยู่รอดและเสร็จ ในปัจจุบัน ...
.
การทำเพลงในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเรื่องยาก ไม่ได้ต้องการต้นทุนในการทำงานสูง ใครๆ ก็สามารถสร้างผลงานได้ แต่คนเริ่มทำเพลง มักมองการทำเพลงเป็นภาพความฝัน มองเป็นศิลปะแห่งอารมณ์ที่จะต้องสาดใส่ความรู้สึกเพื่อสร้างสรรค์ ถึงจะเกิดเป็นเพลง
.
แนวคิดแรกๆ ที่เปลี่ยนผมเองให้ทำเพลงได้ก็คือ ให้มองการทำเพลงเป็น "'งาน" แบบหนึ่ง
.
การรู้สึกว่าการทำเพลง เป็น "'งาน" แบบหนึ่ง เหมือนงานในอาชีพต่างๆ อย่าง หมอ, พ่อค้า, ช่างตัดผม, สถาปนิก ... อาจเป็นเรื่องหักดิบความรู้สึก ที่เคยคิดว่าการทำเพลงคือการออกไปแตะขอบฟ้า แต่พอเปลี่ยนมุมมองว่าการทำเพลงคือ "งาน" เราจะมองเห็นความเป็นจริงของการทำเพลงมากขึ้น
.
คำว่าความเป็นจริง ไม่ใช่การการห้ามฝัน ไม่ใช่การบอกว่าหยุดทำหยุดฝันเถอะ แต่ความเป็นจริงคือ เมื่อเรามองการทำเพลงเป็น "งาน" เหมือนอาชีพอื่นๆ เราจะจัดการความรู้สึก จัดการความคิดและวิธีการการทำเพลงได้ง่ายขึ้น
.
เมื่อการทำเพลงเป็น "งาน" เราจะเห็นภาพชัดขึ้นว่า การทำงานทุกอย่างต้องมีการวางแผน มีขั้นตอน มีการจัดการเงิน การจัดการเวลา เพื่อให้งานเสร็จ งานทำเพลงเหมือนการทำงานอื่นตรงนี้ ถ้าแค่อยากทำเพลง แล้วไม่จัดการเรื่องรายได้ เรื่องเวลา เรื่องคน สุดท้ายเรื่องเหล่านี้ก็จะกลายเป็นกำแพงขวางการทำงานได้ หลายคน หลายวง ทำเพลงไม่เสร็จ ไม่จบ ก็เพราะขาดการวางแผนไป
.
นี่คือแนวทางหลักที่สำคัญอย่างแรกๆ เลยคือ ถ้าคุณอยากทำเพลง ให้เป็นเรื่องจริงจังในชีวิต จงทำให้การทำเพลงเป็นรูปแบบของงานแบบหนึ่ง อย่าใช้เพียงความรู้สึกว่างานเพลงเป็นการล่าฝัน แล้วทำเพลงไปแบบไม่รู้ทิศทาง
.
ในการทำเพลงแบบวง ที่ทำกันหลายๆ คน นอกจากการจัดการเรื่องความคิดและระบบในการทำงานแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญพอกันก็คือการจัดการความรู้สึกของสมาชิกในวง วงดนตรีที่ทำเพลงร่วมกันส่วนใหญ่ ทำเพลงไม่สำเร็จเพราะวงแตกก่อน ทะเลาะกันหรือถอดใจกันไปก่อน ดังนั้นถ้าทำเพลงแบบวง เรื่องการดูแลความรู้สึกภายในวงก็เป็นเรื่องสำคัญ
.
===============================
.
วิธีทำเพลงให้อยู่รอดและเสร็จ
.
===============================
.
หาเป้าหมายก่อน - เป้าหมายของการทำเพลงของคุณคืออะไร
.
ส่วนใหญ่พอถามถึงเป้าหมาย คนทำเพลงที่อยากมีผลงานหลายคนมักเห็นภาพเดียวคือ ทำเพลงขาย ก็ต้องได้เงินเยอะๆ มีชื่อเสียงเยอะๆ มีคนรู้จัก ได้ขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ได้ออกทีวีไง ชื่อเสียง เงินทอง ไหลมาเทมา
.
นี่คือภาพรวมๆ ที่คนเริ่มทำเพลง อยากมีผลงาน ส่วนใหญ่มองเห็นแบบนี้
.
แต่จริงๆ แล้ว เป้าหมายรวมๆ แบบด้านบน เป็นอุดมคติมากกว่าเป้าหมาย
.
ลองกลับมามองเรื่องเป้าหมายใหม่ มองแบบความเป็นจริง ให้มีทั้งเรื่องแผนการ งบประมาณและรายได้อยู่ในนั้น เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องก้าวไปแต่ละก้าวอย่างไร
.
===============================
.
ลองตั้งคำถามกับเป้าหมายต่างๆ ตามนี้
.
- ฉันทำเพลงเพื่ออะไร - คำตอบพื้นฐานส่วนใหญ่จะเหมือนกันๆ คืออยากนำเสนอผลงาน แนวคิด รูปแบบดนตรี แต่ถ้าคุณตอบว่าอยากมีรายได้ที่มั่นคง แนะนำว่าทำงานอย่างอื่นปลอดภัยกว่า
.
เป้าหมายแรกของคนทำเพลง ก็คือแรงขับแบบนี้ คืออยากได้ยินผลงานของตัวเองเผยแพร่ออกไป
.
- เพลงของฉัน ทำให้ใครฟัง - คำถามนี้ก็เป็นคำถามสำคัญ บางทีเราทำเพลงโดยมองว่าทำให้ตัวเองฟัง แล้วตัดโลกภายนอกทิ้งไปเลย พอปล่อยเพลงมา เลยมองไม่เห็นคนฟัง แล้วก็ไม่มีใครฟัง ดังนั้น ทำเพลงก็ควรมีเป้าหมายด้วยว่า คนฟังเพลงของเรา แนวที่เราทำ จะให้ใคร คนกลุ่มไหนฟัง
.
ยกตัวอย่างเรื่องกลุ่มคนฟังก็เช่น อย่างผมทำวง Tea or Me ผมกำหนดเป้าหมายกลุ่มคนฟังไว้ก่อนว่าคนฟังเป็นนักศึกษาปี 4 - คนวัยทำงานหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ อายุ 22 - 30 ปี ดังนั้นเพลงของเราจึงเป็นเพลงฟังสบาย เปิดคลอในที่ทำงานได้ เปิดฟังในร้านอาหารได้ แบบนี้ พอเห็นภาพคนฟัง ก็จะรู้ว่าเพลงของเราน่าจะต้องเป็นแบบไหน การกำหนดกลุ่มคนฟัง ทำให้เรามีเส้นในการทำงาน แล้วจะได้ไม่มีงานหลุดกรอบอย่างเพลง จับเธอมาลงยันต์ หรือ คัน จ. มา ร. เธอ แบบนี้ คือรู้เลยว่าแค่ตั้งชื่อเพลงมาก็ผิดกลุ่มคนฟังแล้ว
.
- ต้นทุนในการทำงาน มีอะไรบ้าง เพื่อให้งานสำเร็จ - คนเริ่มต้นทำเพลง หรือวงที่รวมกันทำเพลง ส่วนใหญ่จะใช้วิธี "ด้น" ในการทำงาน คือทำไปเรื่อยๆ ขาดการวางแผน แล้วส่วนใหญ่ก็ไม่ได้งาน
.
ลองมองการทำงานเพลง ให้เหมือนงานอื่นๆ การเริ่มต้น การรวมตัว ก็ต้องมีการลงทุนมีต้นทุน ซึ่งคุณอาจมองไม่เห็นว่าเป็นตัวเงินในตอนแรก แต่การทำงานทุกอย่างมีต้นทุนเสมอ
.
เช่นเริ่มจากไม่มีอุปกรณ์อะไรเลยในการทำงาน ดังนั้นต้นทุนอย่างแรกก็คือค่าอุปกรณ์ หรือหากรวมวงกันหรือรวมตัวกัน แต่ละคนทำหน้าที่ต่างๆ กัน เช่น เขียนเพลง ทำเพลง การทำงานเหล่านี้มีต้นทุนทั้งสิ้น ลองมองว่าถ้าจะต้องให้งานเสร็จ แล้วเกิดคนที่ต้องรับผิดชอบขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ไม่มีเวลาที่สะดวกในการทำงาน ขั้นตอนก็ต้องหยุดไป งานนั้นถ้าต้องเปลี่ยนมือจ้างคนอื่นทำ ต้องใช้งบเท่าไร หรือถ้าต้องมีคนในทีมทำงานให้เต็มเวลา ต้องใช้เงินเท่าไร
.
เรื่องต้นทุนนี้เป็นเรื่องสำคัญ ข้อแรกคือทำให้เรารู้ว่าจะต้องจ่ายเท่าไร เพื่ออะไรบ้างแล้วเราจะได้อะไรบ้าง ข้อสองคือ พอมีการลงทุนที่เป็นตัวเลข เราจะรู้ว่าถ้าเราทำงานนี้ไม่สำเร็จ เกิดการละลายของเงินทันที พอคิดเป็นระบบ โอกาสที่งานจะสำเร็จก็มากขึ้น
.
ต้นทุนนี้ ยังหมายถึงค่าห้องอัด ค่าจ้างนักดนตรี ค่ามิกเสียง ค่าโปรโมท(ถ้าจะทำ) ค่าทำ MV(ถ้าจะทำ) ... คิดไว้ก่อนว่าคุณพร้อมจะลงทุนเท่าไร หรือมีเงินที่จะลงทุนเท่าไร ถ้ามีงบแบบไม่จำกัด คุณทำอะไรยังไงก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ คนเริ่มทำเพลงมีงบจำกัดกันทั้งนั้น พอวางงบแล้ว คุณจะเห็นภาพว่าต้องใช้เงินเท่าไร ถ้าเงินคุณไม่พอ คุณจะได้ตัดงบได้ ซึ่งปลอดภัยกว่าทำงานไปเรื่อยๆ แล้วมารู้ตัวทีหลังว่า อ้าว ... ไม่เหลือเงินให้ทำงานจนเสร็จได้
.
- เป้าหมายด้านรายได้ - เรื่องนี้ก็สำคัญ อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่า เพลงเดี๋ยวนี้ปล่อยง่ายแต่ขายยาก ดังนั้น เรื่องรายได้ต้องคิดให้รอบคอบ
.
ถ้าคุณมีการงานที่มั่นคง มีอาชีพหลักอยู่ แล้วอยากทำเพลงเพื่อเผยแพร่ผลงาน แล้วคุณรับได้กับการลงเงินทำเพลงแล้วไม่ได้ทุนกลับมา ตรงนี้ไม่ค่อยมีปัญหา ถ้างานเพลงไม่กระทบความเป็นอยู่ของคุณ
ซึ่งผมแนะนำให้คนเริ่มต้นทำเพลง พาตัวเองอยู่ในจุดนี้ให้ได้ก่อน คือ มีจุดปลอดภัย การงานที่ปลอดภัย ที่ถ้างานเพลงของคุณไม่สร้างรายได้ คุณก็ยังอยู่ได้
.
แต่หลายๆ คน ยังมองเรื่องการทำเพลงเหมือนการ "พลีชีพ" ต้องสละอาชีพการงานทุกอย่าง เพื่อมาล่าฝัน ซึ่งถามว่าทำได้ไหม ตอบว่าทำได้แต่ยากมาก ลำพังแค่การทำเพลงให้เสร็จและดีก็ยากมากอยู่แล้ว ถ้าคุณไม่เคยมีประสบการณ์ ไม่เคยมีผลงาน คุณจะไม่รู้เลยว่างานคุณจะเสร็จเมื่อไหร่ แล้วรายได้บาทแรกจะมาเมื่อไหร่ ดังนั้น เรื่องการทิ้งทุกอย่างเพื่อออกมาทำเพลง เป็นเรื่องอันตราย ยิ่งถ้าคุณหวังรายได้จากงานเพลงงานแรกของคุณ ยิ่งอันตรายสุดๆ
.
เรือเล็กควรออกจากฝั่ง เป็นเรื่องทำได้ แต่เรือเล็กก็ควรจะมีเชื้อเพลิง เสบียง อุปกรณ์สื่อสาร แผนที่ ต้นหน รวมทั้งความพร้อมต่างๆ ก่อนออกไปแตะขอบฟ้า ...
.
ด้วยความก้าวหน้า เทคโนโลยีในปัจจุบัน การทำเพลงไม่ใช่เรื่องยากเข็ญแบบต้องใช้เวลาทั้งชีวิตแล้ว ดังนั้น ในการเริ่มต้น จัดการเวลาให้ดีก่อน งานเพลงทำคู่ไปกับอาชีพอื่นได้แน่นอน
.
- เป้าหมายเรื่องเวลา - เรื่องเวลานี้ ส่วนใหญ่ที่ผมเจอ จะมีปัญหาหลังจากงานปล่อยออกไปแล้ว แล้วงานเป็นที่สนใจ ได้รับความนิยม คราวนี้งานเพลงจะต้องการเวลาจากคุณมากขึ้น เช่นงานแสดง งานสัมภาษณ์
.
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการบอกให้คนทำเพลงมีงานอื่นๆ รองรับในข้อที่แล้ว ถ้าคุณทำงานคนเดียว คุณตัดสินใจเองได้ว่าคุณจะทำหรือไม่ทำอะไร คุณจะปล่อยงานประจำที่ทำอยู่แล้วจัดสรรเวลาให้งานเพลงอย่างไร
.
แต่ถ้าคุณรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ต้องคุยกันเรื่องเวลาให้ดี ถ้าเพลงดัง จะเอายังไง คนที่ทำงานประจำจะจัดการเวลาอย่างไร คุยกันให้ดีตั้งแต่ในขั้นวางแผน
.
===============================
.
ต้นทุนของคนทำเพลง
.
ด่านแรกของการทำเพลงให้สำเร็จ ก็คือต้นทุนที่ใช้ทำงาน ได้แก่ต้นทุนด้านการเงินและเวลา นี่คือแนวทางในการจัดการต้นทุนของคนทำเพลง
.
- เมื่อเริ่มต้น อย่าจ่ายค่าอุปกรณ์เยอะเกินไป - หลายคนพอเริ่มอยากทำงานเพลง อยากมีผลงาน ก็ลงเงินทั้งหมดไปกับอุปกรณ์ โดยใช้แต่ของที่ดีที่สุด แพงที่สุดเท่านั้น หรือซื้อตามศิลปินชั้นนำ
.
การมีอุปกรณ์ชั้นยอดในการทำงานเป็นเรื่องดี แต่งานเพลง เรามองกันที่การมีผลงานออกมาเป็นเพลง และเพลงที่ดีส่วนใหญ่ ไม่ได้เกี่ยวกับการใช้อะไรอัดหรืออะไรสร้างแล้วจะกำหนดว่าเพลงนั้นดี แต่เพลงดีก็คืองานที่ดี ดังนั้น ตัดแนวคิดว่าอุปกรณ์ดีเด่นจะทำให้เพลงดีออกไปก่อนเลย เมื่อเริ่มต้น ก็ลงทุนกับอุปกรณ์ที่จำเป็น และทำความเข้าใจในการใช้งานให้มาก ไม่ต้องซื้อเผื่ออนาคต การมีอุปกรณ์ราคาแพงยับแต่ขาดทักษะการใช้งาน ไม่ได้ทำให้งานดีไปกว่าการทำงานบนอุปกรณ์มาตรฐาน บวกความรู้ความเข้าใจในการทำงาน
.
- จ่ายให้สิ่งที่ต้องจ่าย - ค่านักดนตรี ค่าคนมิกงาน ค่าคนทำงานอาชีพในด้านต่างๆ บางครั้งเราเห็นตัวเลขในตอนแรกแล้วอาจจะรู้สึกว่าแพง เช่นค่าคนอัดกลอง ค่าคนเล่นกีต้าร เราต้องการตัดงบแล้วใช้เพื่อน คนรู้จัก ที่ไม่ได้มีทักษะในการเล่นบันทึกเสียงมาอัดให้แทน กลายเป็นว่า ใช้เวลาทำงานนานมากกว่าการจ้างมืออาชีพมาอัดหลายเท่า พอคิดราคาห้องอัดออกมา ค่าใช้จ่ายก็พอๆ กับการจ้างมืออาชีพมาเล่น หรืออาจแพงกว่า เป็นต้น ดังนั้นการจ่ายให้สิ่งที่ควรจ่าย เพื่อให้ได้งานที่ดี ก็เป็นสิ่งสำคัญ
.
อีกเรื่องคือการจ้างมืออาชีพมิกซ์งาน หลายคนทำเพลงแรกได้จนเสร็จ แล้วยังอยากลองพยายามมิกซ์งานเอง ซึ่งงานมิกซ์ต่างกับงานด้านอื่นคือ ต้องใช้ประสบการณ์ในการฟัง แล้วพอเป็นมือใหม่หัดมิกซ์ โอกาสจะยากมากที่งานจะออกมาดี ดังนั้นแนะนำว่า ถ้าอุตส่าห์ทุ่มเททำเพลงแรกจนเสร็จแล้ว ถ้าไม่เคยมิกซ์งานมาก่อน ได้โปรดจ้างคนมิกซ์งานอาชีพเถอะ เพราะเป็นขั้นสุดท้ายที่ส่งผลให้งานทีคุณทุ่มเททำมา ดีได้มาตรฐาน
.
- กำหนดเวลาให้ชัดเจน - กำหนดให้ชัดว่าคุณต้องใช้เวลาทำงานเท่าไร งานถึงจะเสร็จพร้อมเผยแพร่ อย่าทำงานแบบรออารมณ์ กำหนดให้ชัดว่าต้องแต่งเพลงกี่วัน ทำดนตรีกี่วัน แล้วถ้าคุณไม่มีงานอื่นๆ รายได้อื่นๆ คุณต้องใช้ทุนในการใช้ชีวิตเท่าไร
.
เรื่องที่คุณไม่ต้องแปลกใจก็คือ ส่วนใหญ่แม้คุณกำหนดเวลาไว้ชัดเจนแล้ว แต่คุณใช้เวลาเกินแน่นอน แต่ถ้าคุณไม่มีการกำหนดเวลา งานคุณแทบไม่มีโอกาสสำเร็จ ดังนั้นจัดการเรื่องเวลาให้ดี
.
===============================
.
บทสรุป
.
ผมสรุปให้ว่า ถ้าคุณจะทำเพลงขาย(แบบงานอิสระ ไม่ใช่ศิลปินของค่ายใหญ่) คุณควรมีการงาน เงินทุนหรืออาชีพอื่นรองรับก่อน เพื่อกรณีที่เพลงของคุณไม่สร้างรายได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ง่ายมาก และถ้าคุณมีอาชีพอื่นๆ รองรับ คุณจะทำเพลงได้อย่างผ่อนคลาย เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่
.
การพลีชีพละทิ้งทุกอย่างออกมาล่าฝัน ดูเป็นแนวคิดมากกว่าสิ่งที่ควรทำ อย่ามองการทำเพลงเหมือนการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่มีจุดสูงสุดจุดเดียว แต่ขอให้มองการทำเพลงเป็นเรื่องของการเดินทาง ที่เราถึงจุดหมายหนึ่งแล้วเราก็ออกเดินทางไปยังจุดหมายใหม่
.
งานเพลงเป็นแบบนั้น เมื่อเราทำเพลงเสร็จหนึ่งเพลง จะเกิดเป้าหมายใหม่ทันทีไม่ว่าเพลงจะดังหรือไม่ดัง คือ ทำเพลงต่อไป
.
การดูแลให้ตัวเอง ทำเพลงได้เรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การอยู่รอดของคนทำเพลง น่าจะมองในมุมแบบนี้ คือการได้มีผลงานออกมาเรื่อยๆ
.
ขอให้สนุกกับการทำเพลงครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น