มาสร้างสตูดิโอในฝัน เพื่อทำงานเพลงกันเถอะ
เราอยู่ในยุคที่การทำงานบันทึกเสียง การทำเพลง สามารถทำได้เองที่บ้าน ในพื้นที่ส่วนตัว ใครๆ ก็สามารถมีสตูดิโอของตัวเอง หรือ Project Studio นี่คือผลจากการทำงานเสียงในระบบ Digital ที่ทำให้จำนวนอุปกรณ์และราคาเครื่องมือต่างๆ สามารถซื้อหาได้โดยง่าย จนทำให้ใครๆ ก็มี "สตูดิโอส่วนตัว" ได้
Project Studio หรือ Bedroom Studio หมายถึงพื้นที่ทำงานส่วนตัว หลายคนพอพูดถึงการมีสตูดิโอส่วนตัว ก็จะติดอยู่ที่คำว่า "พื้นที่" โดยมองว่าสตูดิโอต้องเกิดจากการสร้าง ทำพื้นที่ให้เก็บกักเสียงได้อย่างดี บทความตอนนี้ เราจะกลับมาช่วยกันค้นหา ว่าหากเราอยากมีสตูดิโอของตัวเอง เราจะเริ่มมององค์ประกอบของสตูดิโออย่างไร
=========================
เงิน เงิน เงิน ....
อยากมีสตูดิโอของตัวเอง ก็ต้องมีเงินเยอะๆ สิ จะได้สร้างสตูดิโอได้ คนส่วนใหญ่มองการมีสตูดิโอแบบนี้ คือการต้องสร้างห้องบันทึกเสียงแบบเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งก็น่าจะเป็นความฝันของคนทำงานเสียงทุกคนเหมือนๆ กัน แต่พอเราพูดถึงคำว่า "Project Studio" ขอให้เปลี่ยนมุมมองไปให้ความสำคัญกับคำว่า Project แทน ให้มองว่าเราต้องการมีสถานที่ทำงานเพื่อให้เกิด "ผลงาน" แล้วเริ่มสร้างสตูดิโอของตัวเองจากมุมมองนี้ คือการมีพื้นที่เพื่อสร้างผลงาน
=========================
คำว่า Project Studio ไม่ใช่การทำห้องบันทึกเสียงเต็มรูปแบบ แต่หมายถึงการทำสตูดิโอแบบที่ตอบโจทย์การทำงานของเราเอง ดังนั้น หากเราจัดระบบความคิด รู้ว่าเราต้องการอะไร จะสร้างงานแบบไหน เราจะเริ่มสร้างสตูดิโอของเราเองได้โดยที่เงินไม่ใช่ปัจจัยแรก
=========================
คิดก่อนว่าเราทำอะไร
เราส่วนใหญ่ต่างมองเห็นภาพสตูดิโอบันทึกเสียงในความคิด ในรูปแบบที่ไม่ต่างกัน คือรูปแบบของห้องที่ถูกสร้างมาเฉพาะเพื่อทำงานบันทึกเสียง และนั่นคือรูปแบบในอุดมคติ แต่การมีพื้นที่ทำงานหรือ Project Studio ส่วนตัว ถ้าอิงแนวคิดตามอุดมคตินั้น หลายคนคงไม่ได้มีโอกาสทำฝันให้เป็นจริง
ก่อนเริ่มจัดการเรื่องพื้นที่ ขอให้กลับมามองที่ตัวเองก่อนว่าที่จริงแล้วเราต้องการมีสตูดิโอเพื่ออะไร มองขอบเขตว่าเราจะทำอะไร แค่ไหน มองแบบให้พอดีกับตัวเองไม่ต้องใช้วิธีกะว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างอื่น มองที่ปัจจุบันก่อนว่าตอนนี้ "ขอบเขต" ที่เราจะทำอยู่ตรงไหน แล้วจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับขอบเขตสิ่งที่เราทำ เช่น
- ฉันเป็นนักแต่งเพลง ฉันแต่งเพลงโดยเล่นกีต้าร์แล้วร้องเป็นเดโม ส่งไปให้คนทำดนตรีทำต่อ - ถ้าขอบเขตการทำงานของคุณเป็นแบบนี้ หมายความว่าพื้นที่ของคุณ ต้องมีที่ให้คุณเขียนเนื้อเพลง อัดกีต้าร์ได้ ต่อไมค์ร้องได้ คุณไม่ต้องใช้พื้นที่มากและห้องก็อาจมีเสียงรบกวนได้บ้าง เพราะขอบเขตของคุณ อยู่ที่การทำเดโม
- ฉันเป็นนักทำดนตรี โดยเน้นอัดกีต้าร์ไฟฟ้าเป็นหลัก ฉันไม่ร้องเพลงเพราะร้องไม่เพราะ ทำแต่เพลงบรรเลงเท่านั้น - ถ้าขอบเขตของคุณเป็นแบบนี้ สตูดิโอของคุณต้องเก็บเสียงได้ดีพอควรถ้าคุณจะอัดกีต้าร์กับแอมป์จริง แต่ถ้าไม่สะดวกเรื่องการอัดแอมป์จริงแล้วคุณใช้ Amp Sim ในการอัด คุณก็จะจัดการพื้นที่ได้ง่ายขึ้นอีก
- ฉันเป็นดีเจ รีมิกซ์และซ้อมเปิดเพลง งานของฉันไม่มีการอัด ไม่มีการร้อง ไม่มีการบันทึกเสียง - ถ้าขอบเขตของคุณเป็นแบบนี้ แล้วคุณต้องทำงานกับลำโพง สตูดิอของคุณต้องเก็บเสียงได้ดีพอควร โดยเฉพาะเสียงย่านต่ำหรือเสียงเบส ที่จะไม่ไปกระแทกรบกวนคนอื่น แต่ถ้าคุณทำงานกับหูฟังได้ หรือใช้ลำโพงที่เสียงไม่ต้องตึ๊บมากได้ ก็จะจัดการพื้นที่ง่ายขึ้น
ผมยกตัวอย่างให้คุณลองหาขอบเขตของสิ่งที่คุณจะทำให้เจอ ถ้าคุณกำหนดขอบเขตของคุณได้ คุณจะมองเห็นภาพรวมของสตูดิโอส่วนตัวของคุณได้ชัดเจนขึ้น แล้วภาพมันจะเปลี่ยนจากภาพของห้องบันทึกเสียงทั่วๆ ไป เป็นพื้นที่พิเศษของคุณเอง
=========================
ขอบเขตของผมคือ
- ผมแต่งเพลงและทำดนตรีเสร็จด้วยตัวเอง ไม่อัดกลองสด กีต้าร์อัดทั้งจ่อไมค์จากแอมป์และใช้ Amp Sim อัดเสียงร้องแบบนำไปใช้จริง - นี่คือขอบเขตของผม ผมอยู่คอนโด ข้อที่ไม่อัดกลองสด ข้อนี้ก็ทำให้ไม่ต้องสร้างห้องอัดแล้ว ส่วนงานทำเพลงส่วนใหญ่ ทำในคอม เรื่องเสียงรบกวนจากภายนอกจึงไม่เป็นปัญหา
ส่วนการอัดเสียงกีต้าร์ ถ้าอัดช่วงกลางคืน ผมใช้ Amp sim เท่านั้น การอัดเสียงร้องก็อัดได้ ถ้าช่วงไหนมีเสียงคนข้างห้องหัวเราะ มีเสียงหมาเห่า รถผ่าน ก็แค่กดอัดใหม่ นี่คือโจทย์เรื่องขอบเขตของผม
จะเห็นว่าคอนโดแบบที่ผมอยู่ ก็จัดการเรื่องพื้นที่ให้เข้ากับขอบเขตงานของผมได้ดี
ดังนั้นก่อนเริ่มจัดหาพื้นที่ ขอให้เริ่มกำหนดขอบเขตสิ่งที่เราต้องการทำก่อน แล้วค่อยจัดการพื้นที่ ให้พอดีกับสิ่งที่ทำ ไม่ต้องเผื่อพื้นที่ไว้ทำทุกอย่างในจักรวาล
=========================
สร้าง Project Studio ส่วนตัว ขอให้มองถึงสิ่งเหล่านี้
ดังพอไหม
เราต้องฟังหรือเล่นดนตรี ดังแค่ไหน แล้วพื้นที่ของเราตอบโจทย์ในการทำเสียงดังได้พอดีกับความต้องการของเรา โดยที่ไม่รบกวนคนอื่นไหม คำว่าคนอื่น ไม่ได้หมายถึงเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่หมายถึงคนในครอบครัวด้วย
ถ้าพื้นที่ของเรารองรับเสียงดังไม่พอกับความต้องการของเรา วิธีจัดการที่ง่ายสุดคือ ลดความต้องการความดังของเราลง โดยเราสามารถทำงานให้เสียงเบาลงได้ไหม ใส่หูฟังได้ไหม ถ้าไม่ได้ ก็อาจต้องสร้างห้องเก็บเสียงแบบจริงจัง
=========================
เงียบพอไหม
พื้นที่ทำงานของเรา เงียบจากเสียงรบกวน พอให้เรามีสมาธิทำงานหรือไม่ และถ้าเราต้องอัดเสียง พื้นที่ของเรา เงียบพอให้อัดได้หรือไม่ เสียงรบกวนในที่นี้ หมายถึงทั้งเสียงรบกวนจากภายนอกห้อง เช่น เสียงรถวิ่ง คนเดินผ่าน เสียงข้างบ้าน และเสียงภายในห้องเองอย่าง เสียงแอร์ เสียงคอม
วิธีจัดการเสียงรบกวน ก็เช่น ติดผ้าม่านเพิ่ม ตั้งโต๊ะทำงานให้ห่างประตู หน้าต่าง
=========================
ไม่ก้องไป
สถานที่ส่วนใหญ่ล้วนใช้ทำงานเสียงได้ ถ้ารองรับความดังได้พอ เงียบพอ และสำคัญมากคือ เสียงไม่ก้อง ถ้าเจอห้องเสียงก้อง ต้องดูว่าคุณรับกับความก้องนั้นได้ไหม ห้องอัดระดับโลกทั้งหลาย ที่เป็นระดับโลกได้ จะมีลักษณะเฉพาะของห้องหรือเสียงก้องในแบบตัวเอง แปลว่าห้องอัดที่ดีไม่จำเป็นต้องดูดซับเสียงสะท้อนไปหมด ความก้องจึงมีจุดที่ยอมรับได้
แต่ถ้าห้องคุณก้องไป วิธีบ้านๆ ที่สุดในการกำจัดเสียงก้องก็คือ ทำให้ห้องรกขึ้น มีของมากขึ้น หรือติดผ้าม่าน พรม ช่วยซับเสียงสะท้อน
=========================
Plug & Play - ข้อนี้หมายถึงการที่เราคิดอะไรออกแล้วสามารถทำงานในพื้นที่ของเราได้ทันที เช่น ถ้าคุณเป็นนักทำเพลงโดยใช้กีต้าร์ ใน Project Studio ของคุณ ควรจะสามารถอัดกีต้าร์ได้ภายในไม่เกิน 3 นาที นับจากที่คุณเกิดไอเดียดีๆ ทุกอย่างควรอยู่ในสภาพพร้อมทำงาน ให้คุณทำงานได้ทันที แบบเปิดคอม เสียบกีต้าร์แล้วอัดได้เลย
ถ้าเป็นพื้นที่ของคุณเอง เมื่อคุณจะทำงานแล้วต้องมาตั้งแอมป์ Setup อุปกรณ์ใหม่ทุกครั้ง แบบนี้ไม่ต้องมีสตูดิโอเองก็ได้ ดังนั้นถ้าจะมีพื้นที่ของตัวเองแล้ว จงจัดให้พื้นที่นั้นทำงานได้สะดวกสุด และรองรับกับไอเดียกระฉูดของคุณได้อย่างทันท่วงทีด้วย นึกถึงข้อนี้ไว้ เสียบปลั๊กแล้วเล่นเลย
=========================
สบายและให้แรงบัดาลใจ
นึกถึงความสบายในการทำงานด้วยเช่น เก้าอี้ในการทำงาน การระบายอากาศ รวมทั้งเมื่อเป็นที่ทำงานของคุณเอง จงจัดวางตกแต่งด้วยสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจกับคุณ เช่น ภาพโปสเตอร์ศิลปินที่คุณชื่นชอบ ของสะสมของคุณ
=========================
มีความเป็นส่วนตัว
ข้อนี้ก็สำคัญมาก พื้นที่ทำงานของคุณต้องมีความเป็นส่วนตัว พอที่คุณจะกล้าแสดงความสร้างสรรค์ในตัวเองออกมา ลองนึกดูว่าคุณกำลังไอเดียลุกเป็นไฟ อัดเพลงอ๊าก ว๊าก จ๊าก ดุจแสดงคอนเสิร์ตท่ามกลางคนร่วมแสนที่สนามรัชมังคลาฯ แล้วมีคนในบ้านเดินมาเห็น ถามคุณว่า มึงเป็นอะไรมากมั้ย ... วินาทีนั้น คนร่วมแสนหายวับกลับสู่โลกความจริง แบบนี้ไม่ดีแน่
สำหรับผมเอง ถ้าเป็นงานทำเพลง ระหว่างทำอยู่ ก็ไม่ชอบให้มีคนอื่นได้ยินงานที่กำลังทำ เพราะแค่คนที่ได้ยินทักว่า ตรงนี้แปลกๆ หรือตรงนี้เพราะดี ก็เสียสมาธิแล้ว ถ้าจะให้คนอื่นฟัง ฟังเมื่อตัวเองรู้สึกว่าฟังได้แล้วดีกว่า ดังน้นพื้นที่ทำงานของคุณ ต้องมีความเป็นส่วนตัวพอ สำหรับตัวคุณเอง
=========================
ว่าด้วยเรื่องอุปกรณ์
อุปกรณ์ที่คุณใช้ทำงาน ใช้หลักการเดียวกันคือ "เลือกที่ดีที่สุดที่คุณซื้อได้" แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เป็นไปตามกฎนี้ นั่นคือลำโพง Monitor
ในการมี Project Studio ของคุณเอง จงเลือกลำโพงให้พอดีกับพื้นที่ของคุณ ถ้าห้องคุณเล็ก คุณเริ่มจากลำโพง 4 นิ้วได้ ส่วนลำโพงขนาด 5-6 นิ้ว ใช้ได้ดีกับห้องเกือบทุกขนาด แต่ต้องจัดระยะการนั่งฟังของคุณให้พอดีกับลำโพงด้วย ส่วนลำโพงขนาด 6 นิ้วขึ้นไป เหมาะกับห้องที่มีขนาดใหญ่ เปิดเสียงดังได้มากๆ เลือกลำโพงให้พอดีกับห้องเป็นเรื่องสำคัญ เล็กไปไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่ใหญ่ไปจะใช้ได้ไม่เต็มที่
=========================
บางทีก็แค่จัด
ในนิตยสาร Sound on Sound จะมีคอลัมน์หนึ่งชื่อว่า Studio SOS โดยคอลัมน์นี้ทางนิตยสารจะส่งผูเชี่ยวชาญไปจัดการ Project Studio ที่ผู้อ่านส่งมา ให้ทำงานได้ดีขึ้น
ผมเองติดตามคอลัมน์นี้มานาน สิ่งที่เห็นจนสรุปได้เกี่ยวกับการจัดการของคอลัมน์นี้ก็คือ สตูดิโอส่วนใหญ่ใช้ทำงานได้ แต่ขาดการจัดที่ดี
SOS เข้าไปเพียงจัดการพื้นที่ใหม่ ย้ายของ ย้ายมุม ติดแผ่นซับเสียงในบางมุม จัดของใหม่ ทำความสะอาด เอาของไม่จำเป็นไปทิ้ง ทำแค่นี้ ส่วนใหญ่สตูิโอทั้งหลายก็ดูดีแบบผิดหูผิดตา
เชื่อว่าตอนนี้หลายๆ คน มี Project Studio ของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าติดขัด รู้สึกว่ายังไม่ดีพร้อม ลองจัดมุมใหม่ ย้ายของ ทิ้งสิ่งไม่จำเป็นออกไปบ้าง ดูดฝุ่น หาสติ๊กเกอร์มาติด เปลี่ยนมุมทำงานใหม่ แค่การจัดพื้นที่อีกนิดหน่อย ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างมหาศาล
ขอให้ทุกคน สนุกกับการทำงานในสตูดิโอของตัวเองครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น